เกร็ดความรู้
25 พฤษภาคม 2567
ควบคุมรายรับ-รายจ่ายสู่เป้าหมาย ต้องทำงบการเงินส่วนบุคคลให้เป็น
หากต้องการวางแผนการเงินของตนเอง ให้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ ไม่ว่าจะเป็นการเก็บเงินซื้อบ้าน หรือการวางแผนเกษียณ สิ่งที่ขาดไม่ได้เลยคือการทำงบการเงินส่วนบุคคล ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญ ในการควบคุมรายรับ-รายจ่าย ทั้งยังช่วยให้รู้ว่าเงินที่หามานั้น ไปอยู่ที่ไหนบ้าง และจะจัดสรรได้อย่างไร ให้เหมาะสม
รู้จัก "งบการเงินส่วนบุคคล"
งบการเงินส่วนบุคคล เปรียบเสมือนเข็มทิศนำทางด้านการเงิน ช่วยให้สามารถติดตามรายรับ รายจ่าย และช่วยให้วางแผนการเงินได้อย่างมีประสิทธิภาพ วิธีการทำงบการเงินส่วนบุคคล ทำได้โดย การจดบันทึกรายรับรายจ่ายในแต่ละเดือน เพื่อให้มองเห็นภาพรวมการเงินอย่างชัดเจน ว่าเงินที่หามานั้นมีจำนวนเท่าไหร่ ใช้จ่ายไปกับอะไรบ้าง และยังเหลืออีกเท่าไหร่ ทำให้ตัดสินใจได้ง่ายขึ้น ในการจัดสรรเงินเพื่อเป้าหมายที่ต้องการ
เริ่มทำงบการเงินส่วนบุคคลอย่างไรดี?
1.จดบันทึกรายรับ-รายจ่าย
• เริ่มต้นง่าย ๆ ด้วยการจดบันทึกรายรับ-รายจ่าย ทุกบาททุกสตางค์ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน เงินพิเศษ เงินโบนัส หรือรายได้อื่น ๆ
• จดบันทึกรายจ่ายแยกประเภท เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าชอปปิ้ง ค่าสาธารณูปโภค ฯลฯ
• สามารถจดบันทึกได้ตามความสะดวก ไม่ว่าจะแบบง่าย ๆ บนสมุด หรือใช้แอปพลิเคชันจัดการการเงินที่มีฟีเจอร์จดบันทึกครบครัน
2. แบ่งหมวดหมู่รายจ่ายให้ชัดเจน
เราสามารถแบ่งหมวดหมู่รายจ่ายออกเป็น 3 ประเภทหลักๆ ดังนี้
• รายจ่ายจำเป็น เป็นค่าใช้จ่ายที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ค่าเช่าบ้าน ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าน้ำค่าไฟ ค่าผ่อนรถ ฯลฯ
• รายจ่ายที่ควรมี ค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต เช่น ค่าโทรศัพท์ ค่าอินเทอร์เน็ต ค่าสมาชิกฟิตเนส ฯลฯ
• รายจ่ายฟุ่มเฟือย ค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น เช่น ช้อปปิ้ง ซื้อของแบรนด์เนม ท่องเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ
3.วิเคราะห์การใช้จ่าย
เมื่อจดบันทึกรายรับ-รายจ่ายครบถ้วนแล้ว ให้นำมาวิเคราะห์ว่า เงินของเราไปอยู่ตรงส่วนไหนบ้าง รายจ่ายประเภทไหนไม่ควร หรือใช้จ่ายมากเกินไป หารูรั่วทางการเงิน แล้วพยายามหาทางปรับแก้ เพื่อหาจุดที่จะสามารถประหยัดได้ จากนั้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการใช้จ่าย เน้นรายจ่ายจำเป็น ลดรายจ่ายฟุ่มเฟือย
4.ตั้งเป้าหมายทางการเงิน
สามารถตั้งเป้าหมายทางการเงินได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น เก็บเงินดาวน์บ้าน ซื้อรถ เก็บเงินเที่ยวต่างประเทศ ฯลฯ หรือถ้ามีเป้าหมายใหญ่ที่อาจจะยาก ก็ให้แบ่งเป้าหมายใหญ่นั้น ให้ย่อยออกมาอีก จะได้มีกำลังใจมากขึ้น เมื่อมีเป้าหมายชัดเจนแล้ว การวางแผนการเงินจะง่ายขึ้น เพราะรู้ว่าจะต้องเก็บเท่าไหร่ จัดสรรเงินยังไง เพื่อจะไปถึงเป้าหมายที่ตั้งเอาไว้
5. วางแผนการออม
ควรมีการวางแผนการออมเงินสม่ำเสมอ และเลือกวิธีการออมที่เหมาะกับตัวเอง เช่น ฝากธนาคาร ออมในกองทุนรวม ซื้อประกัน ฯลฯ สำหรับคนที่ไม่อยากยุ่งยาก ใช้วิธีตั้งค่าโอนเงินอัตโนมัติทุกเดือน ก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ
6.ติดตามผลและปรับแผนอยู่เสมอ
การติดตามผลการออมหรือแผนการเงินเป็นประจำ จะทำให้สามารถประเมินผลได้ว่า การวางแผนการเงินมีประสิทธิภาพหรือไม่ และควรปรับเปลี่ยนเมื่อสถานการณ์จำเป็นได้
การวางแผนการเงินและการทำงบการเงินส่วนบุคคลไม่ใช่เรื่องยาก แต่ต้องใช้ความตั้งใจและวินัยในการติดตาม ทำความเข้าใจรายรับ-รายจ่ายของตัวเอง และจัดสรรอย่างมีระบบ ท้ายที่สุดแล้ว จะได้เห็นผลลัพธ์ความมั่นคงทางการเงินและสามารถบรรลุเป้าหมายต่าง ๆ ที่ตั้งไว้ได้
อ่านเกร็ดความรู้อื่น ๆ ได้ที่ https://www.tlt.co.th/knowledge
ข่าวแนะนำ
© 2018 สงวนสิทธิ์โดย บริษัท โตโยต้า ลีสซิ่ง (ประเทศไทย) จำกัด