เกร็ดความรู้

2 ธันวาคม 2564

นำรถไปตรอ. ต้องตรวจสภาพรถอะไรบ้าง

นำรถไปตรอ. ต้องตรวจสภาพรถอะไรบ้าง


เชื่อว่าคนใช้รถทุกคนต้องเคยเห็นป้ายตรอ.ผ่านกันมาบ้าง โดยเฉพาะบริเวณใกล้กรมการขนส่งสาขาต่าง ๆ ทั่วประเทศ แต่รู้ไหมว่าตรอ.คืออะไร และการนำรถไปตรวจสภาพรถกับตรอ.ต้องตรวจเช็กอะไรบ้าง วันนี้ เกร็ดความรู้จากโตโยต้า ลีสซิ่ง จึงมีคำตอบมาฝากกัน เพื่อให้คนใช้รถได้รู้จักตรอ.ให้มากขึ้น


ทำความรู้จัก ตรอ. คืออะไร?
ตรอ. คือสถานที่สำหรับนำรถไปตรวจเช็กสภาพ โดยเป็นสถานที่ของเอกชนที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกหรือหน่วยงานของกรมการขนส่งทางบก  ในการตรวจเช็กรถว่าพร้อมใช้งานตามระเบียบข้อบังคับของกรมการขนส่งหรือไม่ ทั้งนี้ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถนำรถไปตรวจเช็กได้โดยไม่ต้องไปตรวจสภาพที่กรมการขนส่งโดยตรงนั่นเอง


การตรวจสภาพรถกับตรอ. ตามพระราชบัญญัติกรมการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติรถยนต์ พ.ศ. 2522 กำหนดเอาไว้ว่ารถที่จะนำมาขับขี่ได้ต้องมีสภาพที่แข็งแรง มั่นคง เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน และกำหนดให้รถที่เข้าเกณฑ์ดังต่อไปนี้ต้องตรวจเช็กสภาพก่อนต่อภาษีประจำปี ได้แก่
•    รถยนต์ส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งาน 7 ปีขึ้นไป
•    รถยนต์ส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งาน 7 ปี ขึ้นไป
•    รถบรรทุกส่วนบุคคลที่มีอายุใช้งาน 7 ปี ขึ้นไป
•    รถจักรยานยนต์ที่มีอายุใช้งาน 5 ปี ขึ้นไป


ส่วนค่าตรวจสภาพรถกับตรอ.เป็นราคามาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ คือ รถจักรยานยนต์คันละ 60 บาท รถยนต์น้ำหนักรถเปล่าไม่เกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 150 บาท และรถยนต์น้ำหนักรถเปล่าเกิน 1,600 กิโลกรัม คันละ 250 บาท ส่วนเอกสารที่ต้องใช้ในการเข้าตรวจกับตรอ.ก็ใช้เพียงแค่สมุดประจำรถเท่านั้น


ตรวจสภาพรถกับตรอ. ตรวจอะไรบ้าง?
1.    ตรวจความถูกต้องของข้อมูลรถ
ไม่ว่าจะเป็นป้ายทะเบียน ลักษณะรถ สี แบบ หมายเลขรถ ชนิดและหมายเลขเครื่องยนต์ และเชื้อเพลิง ว่าถูกต้องตามที่ระบุไว้ในเล่มประจำรถหรือไม่
2.    การตรวจสภาพภายในและภายนอกรถ
เมื่อนำรถไป ตรอ.จะมีการตรวจเช็กทั้งตัวถัง สี อุปกรณ์ทั้งภายในและภายนอกรถ เช่น เข็มขัด ที่นั่ง ระบบไฟฟ้า ระบบไฟส่องสว่าง ไฟสัญญาณ ล้อยาง และอุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยอื่น ๆ เป็นต้น
3.    การตรวจใต้ท้องรถ
นอกจากตรวจภายในและภายนอกรถแล้ว ยังต้องตรวจใต้ท้องรถ โดยจะเช็กระบบเบรก ระบบรองรับน้ำหนัก ระบบเลี้ยว ระบบส่งกำลัง เครื่องยนต์ ระบบไอเสียและเชื้อเพลิง เป็นต้น 
4.    การตรวจประสิทธิภาพระบบเบรก
เป็นการตรวจสภาพรถว่าระบบเบรกยังทำงานได้ดีอยู่หรือไม่โดยจะทำการทดสอบประสิทธิภาพบนลูกกลิ้งและวัดค่าประสิทธิภาพของล้อแต่ละข้าง
5.    การตรวจสอบโคมไฟหน้ารถ
การตรวจสภาพโคมไฟหน้ารถจะวัดค่าความเบี่ยงเบนของแสงและความเข้มแสงว่ามีค่าเฉลี่ยเป็นไปตามที่กำหนดหรือไม่
6.    การตรวจวัดแก๊สคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และก๊าซไฮโดรคาร์บอน (HC) 
เป็นการตรวจวัดว่ารถยนต์แต่ละคันปล่อยแก๊สดังกล่าวออกมาเกินปริมาณที่กำหนดเอาไว้หรือไม่ นอกจากนี้หากเป็นรถเครื่องยนต์ดีเซลยังต้องตรวจวัดควันดำด้วย
7.    การตรวจวัดระดับเสียง
ในการตรวจวัดระดับเสียงของรถยนต์ตามที่กำหนด เสียงงจะต้องดังไม่เกิน 100 เดซิเบล เอ จึงจะผ่านมาตรฐานตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดไว้
ทั้งนี้ การตรวจสภาพรถกับตรอ. ค่อนข้างละเอียด  ดังนั้นหากรถของใครใกล้ถึงเวลาต่อภาษีและมีอายุครบตามที่กฎหมายระบุไว้ก็อย่าลืมนำไปตรวจสภาพที่ตรอ.ก่อน หากตรวจสภาพไม่ผ่านให้รีบนำรถไปซ่อมบำรุงภายใน 15 วัน จากนั้นนำไปตรวจใหม่ ซึ่งจะเสียค่าธรรมเนียมเพียงครึ่งราคาเท่านั้น แต่หากใช้เวลาซ่อมเกิน 15 วันก็ต้องเสียค่าธรรมเนียมอัตราปกติ ดังนั้นวางแผนการนำรถไปตรวจเช็กให้ดีจะคุ้มค่าที่สุดสำหรับคนใช้รถทุกคน 


นอกจากตรวจสภาพรถเป็นประจำแล้ว ก็ควรหมั่นสังเกตรถอยู่เสมอด้วย เพื่อจะได้ไม่เกิดอุบัติเหตุโดยไม่คาดคิด หรืออย่างน้อยก็ควรจะมีประกันภัยรถยนต์เพื่อความอุ่นใจ เพราะมักจะมีบริการช่วยเหลือฉุกเฉินให้กับผู้เอาประกันด้วย และหากกำลังมองหาประกันรถยนต์อย่างครบวงจร*  สามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://toyotainsurancebroker.com/index.php 


หมายเหตุ - *รายละเอียดความคุ้มครอง เงื่อนไข และข้อยกเว้น เป็นไปตามที่บริษัทประกันภัยกำหนด บริษัท โตโยต้า อินชัวรันซ์ โบรกเกอร์ จำกัด ให้บริการด้านนายหน้าประกันภัยในเครือโตโยต้า ลีสซิ่ง
อ่านเกร็ดความรู้อื่น ๆ ได้ที่ https://www.tlt.co.th/news/knowledge 

กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวแนะนำ