เกร็ดความรู้

19 กุมภาพันธ์ 2565

รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เมื่อต้องทำธุรกรรมออนไลน์

รู้เท่าทันมิจฉาชีพ เมื่อต้องทำธุรกรรมออนไลน์


ทุกวันนี้โลกมีเทคโนโลยีก้าวไกลขึ้น ผู้คนจึงหันมาทำธุรกรรมออนไลน์ที่ทั้งรวดเร็วและสะดวกสบายกันจนกลายเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ตามมาก็คือภัยไซเบอร์หรือมิจฉาชีพบนโลกออนไลน์ที่มาพร้อมแนวทางการหลอกลวงแบบใหม่ ๆ ที่ทำให้ใครหลายคนต้องสูญเงินไปหลักหมื่นหลักแสนโดยไม่รู้ตัว


มิจฉาชีพที่แฝงตัวมาหาผลประโยชน์จากการทำธุรกรรมผ่านช่องทางออนไลน์นั้นมีหลายรูปแบบ เช่น มิจฉาชีพบนโซเชียลมีเดียที่อาศัยช่องทางการแชทในการหลอกล้วงข้อมูลส่วนตัวของประชาชน ไม่ว่าจะเป็นชื่อ นามสกุล หมายเลขโทรศัพท์ หมายเลขบัตรประชาชน ไปจนถึงบัญชีธนาคาร นอกจากนี้ยังมีภัยที่มาในรูปแบบของการปลอมแปลงสลิปโอนเงินหรือแชตหลอกให้โอนเงินอีกด้วย


ส่วนมิจฉาชีพรูปแบบต่อไปที่ควรรู้จักก็คืออีเมลหลอกลวงหรือที่เรียกกันว่าฟิชชิ่ง (Phishing) เป็นการสร้างอีเมลปลอมโดยแอบอ้างว่าเป็นอีเมลจากธนาคาร สถานประกอบการ หรือหน่วยงานของรัฐ เพื่อหลอกให้คนคลิกลิงก์ในอีเมลนั้น ๆ หากใครเผลอคลิกก็จะติดไวรัสที่เข้ามาล้วงข้อมูลส่วนตัวจากโทรศัพท์หรือคอมพิวเตอร์ได้ รวมถึงไวรัสเรียกค่าไถ่ที่ต้องจ่ายเงินให้มิจฉาชีพก่อน ไม่อย่างนั้นอาจไม่สามารถใช้งานคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์ได้


สำหรับมิจฉาชีพประเภทสุดท้ายที่มักเจอในการทำธุรกรรมออนไลน์ คือการขโมยข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งอาจเป็นข้อมูลที่รั่วไหลจากแอปชอปปิงออนไลน์ หรือข้อมูลที่ไปกรอกไว้กับเว็บไซต์ต่าง ๆ เป็นต้น

 
จะเห็นได้ว่ามิจฉาชีพบนโลกออนไลน์นั้นมีหลายรูปแบบ ดังนั้นหากไม่อยากตกเป็นเหยื่อมิจฉาชีพในการทำธุรกรรมออนไลน์ ต้องลองนำแนวทางเหล่านี้ไปปฏิบัติกันดู
1. ไม่กรอกข้อมูลส่วนตัวบนเว็บไซต์ แอปพลิเคชัน หรือบริการต่าง ๆ หากไม่จำเป็น โดยเฉพาะเว็บไซต์ที่ความปลอดภัยต่ำและไม่น่าเชื่อถือ
2. เมื่อได้รับอีเมล SMS หรือข้อความใด ๆ บนโซเชียลมีเดีย ต้องอ่านให้แน่ใจเสียก่อนว่าเป็นข้อความที่มาในรูปแบบการหลอกลวงให้กดลิงก์แปลก ๆ หรือไม่ และหากเป็นอีเมลที่ไม่รู้จัก หรือมีลิงก์ที่น่าสงสัย ห้ามคลิกโดยเด็ดขาด
3. ไม่หลงเชื่อข้อความในแชต โดยเฉพาะหากเป็นแชตขอยืมเงิน ขอให้โอนเงิน หรือขอข้อมูลส่วนตัวใด ๆ ก็ตาม เพราะหากเป็นแชตในรูปแบบนี้ส่วนใหญ่มักเป็นมิจฉาชีพ ทางที่ดีไม่ควรรับแอดคนที่ไม่รู้จักและไม่รับแชตจากคนแปลกหน้าจะดีที่สุด
4. หากเป็นฝ่ายรับเงินต้องตรวจสอบยอดเงินและสลิปเงินโอนด้วยทุกครั้ง ส่วนใครเป็นฝ่ายชำระเงินในการทำธุรกรรมออนไลน์ก็ต้องตรวจสอบผู้ขายให้ดีว่าน่าเชื่อถือหรือไม่
5. ไม่ใช้ Wi-Fi สาธารณะเพราะอาจถูกเจาะข้อมูลสำคัญ ๆ ในการทำธุรกรรมออนไลน์ได้ เช่น รหัสบัตรเครดิต เป็นต้น
6. จำกัดวงเงินการซื้อของออนไลน์และการเบิกถอนต่อวัน เพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกรณีถูกมิจฉาชีพหลอกเอาข้อมูลบัตรเครดิตหรือบัตรเดบิตไป


การทำธุรกรรมออนไลน์นั้นมีความสะดวกสบายและใช้งานง่ายก็จริง แต่ภัยจากมิจฉาชีพที่ไม่ประสงค์ดีก็มีแอบแฝงมาด้วยเช่นกัน จึงต้องรู้เท่าทันมิจฉาชีพและรู้จักปกป้องข้อมูลส่วนตัวของตัวเองบนโลกออนไลน์  ต้องมีสติก่อนทำธุรกรรมเสมอ และที่สำคัญต้องเลือกช่องทางทำธุรกรรมที่เชื่อถือได้ด้วย


TOYOTA Wallet เป็นหนึ่งในแอปพลิเคชันกระเป๋าเงินดิจิทัลที่ทันสมัย ใช้ง่าย ปลอดภัย และดำเนินการโดย SCB ถือเป็นแอปฯ ที่มั่นใจได้เรื่องความปลอดภัย อีกทั้งยังมอบความสะดวกสบายให้แก่ลูกค้าโตโยต้าโดยเฉพาะ ในการใช้ชำระค่าสินค้าและบริการต่าง ๆ ของศูนย์โตโยต้า รวมถึงร้านค้าต่าง ๆ ที่ร่วมรายการ  และยังมีสิทธิประโยชน์ดี ๆ มอบให้อีกด้วย หากสนใจสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ https://toyota-wallet.tlt.co.th/


อ่านเกร็ดความรู้อื่น ๆ ได้ที่ https://www.tlt.co.th/news/knowledge


 

กลับสู่หน้าหลัก

ข่าวแนะนำ